ระหว่างหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร จะมีกล้ามเนื้อทำหน้าที่เป็นหูรูด (Sphincter) ช่วยบีบบังคับไม่ให้อาหารและกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับเข้าไปในหลอดอาหาร ทั้งนี้เพราะกรดจะทำลายเยื่อบุหลอดอาหาร เเละเนื้อเยื่อหลอดอาหารไม่สามารถทนต่อกรดได้ ดังนั้น เมื่อเกิดภาวะที่ทำให้หูรูดนี้หย่อนยาน หรือปิดไม่สนิท จึงส่งผลให้กรดและอาหารที่กำลังย่อยในกระเพาะอาหาร ไหลทวนย้อนกลับเข้าสู่หลอดอาหาร

ภาวะที่ทำให้เกิดการหย่อนยาน และ/หรือการปิดไม่สนิทของหูรูดที่สำคัญ มีดังนี้

1️⃣ กระเพาะอาหารบีบตัวลดน้อยลง จากสาเหตุต่าง ๆ เช่น

  • จากสูงอายุขึ้น (อายุ 40 ปีขึ้นไป เซลล์ต่างๆทุกชนิดของร่างกายรวมทั้งของหูรูดและของกระเพาะอาหารจะค่อยๆเสื่อมลงๆ)
  • จากการอักเสบของกระเพาะอาหาร หรือของเส้นประสาทกระเพาะอาหาร
  • จากผลข้างเคียงของยาบางชนิด เช่น ยาคลายเครียด ยาลดกรด ยาบรรเทาปวดกล้ามเนื้อ
  • จากสารบางอย่างที่ทำให้กล้ามเนื้อหย่อนยาน เช่น สุรา/เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ซึ่งจากการบีบตัวลดลง จึงส่งผลให้เกิดการคั่งของอาหารและกรด จึงเพิ่มแรงดันในกระเพาะอาหาร ดันให้หูรูดนี้เปิด อาหาร/กรดจึงไหลย้อนกลับเข้าสู่หลอดอาหาร

2️⃣ การมีแรงดันในกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้น จึงดันให้หูรูดนี้เปิดหรือปิดไม่สนิท อาหาร/กรดจากกระเพาะอาหารจึงไหลท้นย้อนกลับเข้าหลอดอาหาร เช่น

  • โรคอ้วน
  • การตั้งครรภ์
  • อาการไอ โดย เฉพาะการไอเรื้อรัง
  • การกินอาหารในแต่ละมื้อในปริมาณสูง (กินอิ่มมากเกินไป)
  • การกินแล้วนอนเลย
  • กินอาหารประเภทชนิดมีคุณสมบัติค้างอยู่ในกระเพาะอาหารได้นาน เช่น อาหาร ไขมัน

 

🙏ขอขอบคุณ🙏 ข้อมูลจากบทความจาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์ วว.รังสีรักษา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์