หลาย ๆ ท่านอาจคาดไม่ถึงว่าความเครียด ภาวะซึมเศร้า (Depression) หรือความวิตกกังวล (Anxiety) จะเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดโรคกรดไหลย้อนหรือทำให้อาการรุนแรงขึ้นได้ นักวิจัยพบว่าสมองและหลอดอาหารมีความสามารถในการเชื่อมโยงกันได้อย่างใกล้ชิด โดยความเครียดและอารมณ์ส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบทางเดินอาหาร ในขณะเดียวกันอวัยวะภายในระบบทางเดินอาหารที่มีปัญหาก็จะส่งผลต่ออารมณ์ของบุคคลนั้นเช่นเดียวกัน จากงานวิจัยหลายชิ้นพบว่า ปัจจัยด้านอารมณ์มีผลต่อความรุนแรงของโรคในระบบทางเดินอาหาร เนื่องจากระบบประสาทที่สมองสามารถสั่งงานให้กรดหลั่งได้มากขึ้นเมื่อเกิดความเครียด การนอนไม่หลับ หรือหลับไม่สนิทจากการเป็นโรคซึมเศร้าหรืออาการวิตกกังวล
นอกจากนี้ อาการเหล่านี้ยังมีผลเพิ่มความเครียดของกล้ามเนื้อทำให้กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง การบีบตัวของหลอดอาหารลดลง จึงเกิดแรงดันและลมปริมาณมากในกระเพาะอาหาร เมื่อร่างกายย่อยอาหารได้ช้าจึงเกิดอาการจุดเสียด แน่นหน้าอก ความเครียดยังส่งผลให้หูรูดทำงานผิดปกติด้วย โดยหากหูรูดบริเวณกระเพาะอาหารหย่อนจะทำให้ไม่สามารถปิดกั้นกรดที่ย้อนขึ้นมาได้ จึงเกิดอาการแสบร้อนกลางอก หายใจไม่อิ่ม เรอเปรี้ยว และคลื่นไส้ นอกจากนี้ การเป็นโรคซึมเศร้าหรืออาการวิตกกังวลยังส่งผลให้ร่างกายไวต่อการรับรู้ความรู้สึกเจ็บปวดผ่านการเชื่อมโยงกันระหว่างสมองและหลอดอาหาร หรือที่เรียกว่า gut-brain axis อีกด้วย
การนอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิท เป็นปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งที่พบได้บ่อยในผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าหรือผู้ที่มีอาการวิตกกังวล การนอนไม่หลับจะทำให้ร่างกายไม่ได้พักผ่อน ฮอร์โมนหลั่งผิดปกติ ร่างกายรู้สึกตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา จึงส่งผลให้ระบบประสาทที่สมองสั่งการให้ร่างกายหลั่งกรดเพิ่มขึ้น ทำให้อาการกรดไหลย้อนและโรคที่เป็นอยู่แย่ลงส่งผลทำให้คุณภาพชีวิตลดลงตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม โรคกรดไหลย้อนสามารถป้องกันและรักษาให้หายเร็วขึ้นได้หากผู้ป่วยปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตร่วมด้วย เช่น ลดความเครียด ทำจิตใจให้แจ่มใส ปรึกษาแพทย์เพื่อรักษาภาวะซึมเศร้าหรืออาการวิตกกังวล งดการนอนทันทีหลังรับประทานอาหารอิ่ม ควรนั่งหรือเดินเล่นอย่างน้อย 1 ชั่วโมง งดทานอาหารเผ็ดร้อน งดคาเฟอีน และทาน ผงกล้วยดิบ เพื่อช่วยเสริมโพแทสเซียม โดยโพแทสเซียมที่พบในกล้วยจะเข้าไปช่วยปรับสมดุลในร่างกาย และช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคกรดไหลย้อนได้ดีอีกด้วย
เอกสารอ้างอิง
-
Association Between Anxiety and Depression and Gastroesophageal Reflux Disease: Results from a Large Cross-sectional Study. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6175551/pdf/jnm-24-593.pdf
-
Is There a Connection Between GERD and Anxiety? Healthline. https://www.healthline.com/health/gerd-and-anxiety#symptoms.