ท้องอืด (Bloated stomach) คือภาวะที่ท้องเกิดอาการแน่นเนื่องจากมีแก๊สในกระเพาะอาหาร จนทำให้ท้องดูมีลักษณะบวม ท้องอืดสามารถเกิดขึ้นกับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งเมื่อเกิดอาการแล้วจะส่งผลให้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ไม่สะดวกเนื่องจากรู้สึกอึดอัดท้อง อาการท้องอืดสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งเกิดจากปัญหาสุขภาพ หรือเกิดจากการกิน โดยสาเหตุที่ทำให้ท้องอืด มีดังนี้
1. มีลมในทางเดินอาหารมากเกินไป โดยเฉพาะในกระเพาะอาหาร ซึ่งมีสาเหตุมาจากการอักเสบ แผลในกระเพาะอาหาร หรือมีเนื้องอก เนื้อร้ายซ่อนอยู่ในกระเพาะอาหาร อาจพบการติดเชื้อแบคทีเรียแฝงที่เป็นสาเหตุของโรคกระเพาะอาหารที่เรียกว่า Helicobacter Pylori (เอช.ไพโรไล)
2. การรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีแก๊สหรือก่อให้เกิดแก๊ส อาหารเช่น ถั่ว บรอกโคลี เครื่องดื่มอัดแก๊ส หรือเบียร์ จะทำให้เกิดการสะสมแก๊สในกระเพาะอาหารจนกลายเป็นอาการท้องอืด แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสภาพระบบย่อยอาหารของแต่ละคนด้วย
3. ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางกลุ่ม เช่น ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท ยาแก้ปวดข้อ ยาคลายเครียด
ยาระงับอาการปวดชนิดเสพติด (Narcotic Pain Medications) วิตามิน อาหารเสริมธาตุเหล็ก หรือยารักษาอาการท้องผูกอีกหลาย ๆ ชนิด ซึ่งมีผลในการกดระบบประสาทและทำให้การบีบตัวของลำไส้ลดลงก็อาจส่งผลให้เกิดอาการท้องอืดได้เช่นกัน
4. ปัญหาจากลำไส้เล็ก จากการย่อยที่ไม่สมบูรณ์ เกิดจากน้ำย่อยจากลำไส้เล็ก ตับ หรือตับอ่อน ทำงานได้น้อย จำนวนแบคทีเรียที่มีประโยชน์มีมากหรือน้อยไป หรือเกิดจากสภาวะการบีบตัวที่ผิดปกติ หรือภาวะผู้ป่วยที่ลำไส้ไวต่อการกระตุ้น แม้ว่าลมหรือแก๊สในลำไส้อาจจะไม่มาก แต่ผู้ป่วยจะมีอาการอืดแน่นท้องได้
5. การกลืนอากาศเข้าไปในปริมาณที่มาก ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหาร ดื่มน้ำ สูบบุหรี่ หัวเราะ หรือพูดคุย จะมีการกลืนอากาศเข้าไปด้วย ซึ่งร่างกายสามารถขับออกได้ด้วยการเรอหรือการผายลม แต่หากเรากลืนอากาศเข้าไปมากกว่าปกติ จะทำให้ลมเข้าท้องจำนวนมาก อาจทำให้เกิดอาการท้องอืดและมีอาการสะอึกร่วมด้วย
6. ปัจจัยอื่น ๆ
- การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน ระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงของผู้หญิงสามารถก่อให้เกิดภาวะก่อนมีประจำเดือน ซึ่ง 1 ในอาการของภาวะนี้จะทำให้ร่างกายมีน้ำเพิ่มขึ้น จนเป็นสาเหตุของอาการท้องอืดนั่นเอง
- ความอ่อนแอของผนังช่องท้อง ผนังช่องท้องที่อ่อนแอเนื่องมากจากการคลอดบุตรหรือการผ่าตัดช่องท้องสามารถก่อให้เกิดอาการท้องอืดได้
- ตั้งครรภ์
- โรคอ้วน
- กรดไหลย้อน (GERD)
- โรคลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome)
- การแพ้อาหารชนิดต่าง ๆ เช่น โปรตีนนม เป็นต้น
- รับประทานอาหารมากหรือเร็วเกินไป
- แบคทีเรียในกระเพาะอาหารเจริญเติบโตมากเกินไป
- โรคท้องร่วงจากเชื้อเจียอาร์ไดอาซิส (Giardiasis)
- โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง
หากเกิดอาการ “ท้องอืด” อย่าปล่อยทิ้งไว้ เพราะแม้ท้องอืดจะเป็นเพียงอาการ ไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่ท้องอืดก็อาจเป็นอาการหนึ่งของโรคร้ายแรง หรือพัฒนาไปสู่โรคอื่นๆ ได้ เเละถ้าเป็นนานเกิน 2 สัปดาห์ อาการไม่ดีขึ้นหลังรับประทานยา ควรรีบพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจสืบค้นสาเหตุของอาการโดยละเอียดค่ะ
🙏 ขอขอบคุณข้อมูลจาก www.pobpad.com ค่ะ