หลายคนอาจคิดว่าการที่เรารับประทานอาหารไม่เป็นเวลาเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อน อย่างไรก็ตาม แท้จริงแล้วชนิดของอาหาร เครื่องดื่ม และพฤติกรรมการใช้ชีวิตส่วนตัวหลาย ๆ อย่าง ล้วนมีความเชื่อมโยงกับการกำเริบหรือความรุนแรงของโรคกรดไหลย้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพฤติกรรมการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์

พบว่าการสูบบุหรี่และการสัมผัสควันบุหรี่ ทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคกรดไหลย้อนมากกว่าคนทั่วไปหลายเท่า รวมถึงทำให้อาการของโรคกรดไหลย้อนแย่ลง แน่นอนว่าบุหรี่นั้นเป็นโทษต่อร่างกาย และทำให้สุขภาพต่าง ๆ ในหลายด้านแย่ลง ไม่ว่าจะเป็นโรคปอด เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งหลอดอาหาร  เพราะสารพิษในควันบุหรี่จะเข้าไปทำลายหลอดอาหารโดยตรง ทำให้การย่อยอาหารเกิดขึ้นช้าลง และยับยั้งการหลั่งกรดที่สำคัญของกระเพาะอาหาร ทำให้หลอดเลือดในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กตีบแคบลง เลือดจึงไหลเวียนได้ไม่สะดวก อาหารจึงค้างอยู่ในนั้นนานและทำให้เกิดกรดไหลย้อนตามมา

นอกจากนี้ ควันบุหรี่ยังเข้าไปกระตุ้นการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดกรดที่มากเกินไป สารพิษในควันบุหรี่ยังส่งผลทำลายกล้ามเนื้อหูรูด ทำให้กล้ามเนื้อหูรูดคลายตัวจึงเกิดกรดไหลย้อนตามมาอีกด้วย การสูบบุหรี่ทำให้ปากแห้ง คอแห้ง ลดปริมาณน้ำลาย ทำให้น้ำลายเหนียวข้น โดยปกติแล้วน้ำลายนี้เองที่จะทำหน้าที่เคลือบหลอดอาหาร มีหน้าที่กำจัดกรดออกจากหลอดอาหาร เนื่องจากในน้ำลายจะมีสารไบคาร์บอเนต ซึ่งมีฤทธิ์เป็นด่างและเป็นตัวต้านกรดโดยธรรมชาติ เมื่อสูบบุหรี่แล้วน้ำลายถูกผลิตน้อยลง กรดก็ไหลขึ้นมาได้ง่ายและเยอะขึ้น ทำให้เกิดแผลในหลอดอาหารและเกิดเป็นโรคกรดไหลย้อนได้ ดังนั้น หากใครที่สูบบุหรี่แล้วมีการแสบร้อนกลางหน้าอกล่ะก็ นั่นเป็นสัญญาณเตือนว่าคุณอาจเป็นกรดไหลย้อนเข้าให้แล้ว

การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กระตุ้นการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร

สำหรับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ว่าจะเป็นเบียร์ สุรา ไวน์ ค็อกเทล หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมแอลกอฮอล์ทุกชนิด จะส่งผลกระตุ้นการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร ทำให้กระเพาะอาหารมีกรดมากเกินไป นอกจากนี้ แอลกอฮอล์ยังทำให้กล้ามเนื้อหูรูดที่กั้นระหว่างกระเพาะอาหารและหลอดอาหารอ่อนแอลง เกิดการคลายตัวและปิดไม่สนิท กรดในกระเพาะอาหารจึงไหลย้อนกลับมาในหลอดอาหารได้ง่ายกว่าปกติ ทำให้เกิดแผลในบริเวณหลอดอาหาร และมีอาการแสบร้อน จุกเสียดตามมา

การปรับเปลี่ยนนิสัย และการดำเนินชีวิตประจำวัน ถือว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการรักษาและมีความสำคัญมากที่ช่วยทำให้ผู้ป่วยมีอาการน้อยลง ป้องกันไม่ให้เกิดอาการ และเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้ หากสามารถเลิกสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการสัมผัสควันบุหรี่ รวมถึงงดการดื่มแอลกอฮอล์ รับประทานอาหารรสอ่อน ๆ ไม่นอนทันทีหลังการรับประทานอาหาร และหลีกเลี่ยงความเครียดได้ จะช่วยลดปริมาณการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร ปัญหากรดเกินในกระเพาะอาหารจะลดลง และยังป้องกันไม่ให้กรดไหลย้อนกลับขึ้นไปในระบบทางเดินอาหารส่วนบนจากการที่ร่างกายมีกล้ามเนื้อหูรูดที่แข็งแรงได้อีกด้วย การรักษาโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนี้ควรปฏิบัติไปตลอดชีวิต แม้ว่าผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นแล้วก็ตาม หรือแม้ว่าผู้ป่วยจะหายดีโดยไม่ต้องรับประทานยาแล้วก็ตาม

ลด ละ เลิก การสูบบุหรี่และ/หรือดื่มแอลกอฮอล์ได้ เพื่อการมีสุขภาพที่แข็งแรง

ในเบื้องต้นหากลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรม งดการสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรไปขอคำปรึกษาจากแพทย์ โดยแพทย์อาจพิจารณาให้รับประทานยาเพื่อลดปริมาณกรดในกระเพาะอาหาร และ/หรือ เพิ่มการเคลื่อนตัวของระบบทางเดินอาหารในการกำจัดกรด เช่น ยาลดกรดกลุ่ม proton pump inhibitor เป็นยาที่สามารถยับยั้งการหลั่งกรดได้ดี สามารถเห็นผลการรักษาเร็ว โดยควรรับประทานยาสม่ำเสมอตามคำแนะนำของแพทย์ จึงจะช่วยลดโอกาสการเกิดกรดไหลย้อน นอกจากนี้ อีกหนึ่งทางเลือกคือการรับประทานชา/ผงชงสมุนไพรที่มีฤทธิ์ช่วยลดกรดและเสริมความแข็งแรงของทางเดินอาหาร เช่น ผงกล้วยดิบ ขิง และขมิ้นชัน เป็นต้น

“น้ำว้า” ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนสามารถลด ละ เลิก การสูบบุหรี่และ/หรือดื่มแอลกอฮอล์ได้ เพื่อการมีสุขภาพที่แข็งแรง มีความสุขกับการใช้ชีวิตในทุก ๆ วันค่ะ

 

สนใจ ผลิตภัณฑ์ของ “น้ำว้า” เพิ่มเติม กดที่รูปได้เลยค่าาา

Namwah Organic Shop

 

เอกสารอ้างอิง
  1. https://www.everydayhealth.com/gerd/gerd-and-smoking.aspx. November 18, 2009.
  2. https://www.webmd.com/heartburn-gerd/qa/why-does-smoking-cause-acid-reflux. March 15, 2020.
  3. https://www.webmd.com/heartburn-gerd/features/heartburn-tobacco-connection#1. March 13, 2014.
  4. https://www.uofmhealth.org/health-library/ut1339#:~:text=If%20you%20smoke%20or%20chew,the%20esophagus%2C%20which%20causes%20heartburn. August 11, 2019.