กรดไหลย้อนเป็นอาการแสบร้อนกลางอกที่เกิดจากกล้ามเนื้อบริเวณหลอดอาหารคลายตัวผิดปกติ ซึ่งพบได้บ่อยมากขึ้นในหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากหญิงตั้งครรภ์มีการเปลี่ยนแปลงของ ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (progesterone) โดยมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นจากระดับปกติอย่างมากเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ส่งผลให้ระบบย่อยอาหารทำงานช้าลง และทำให้กล้ามเนื้อหูรูดบริเวณปลายหลอดอาหารที่อยู่ระหว่างกระเพาะคลายตัวมากกว่าปกติ
นอกจากนี้ การเจริญเติบโตของทารกในครรภ์จะทำให้มดลูกขยายขนาดใหญ่ขึ้น และไปเบียดกระเพาะอาหารให้อยู่ในตำแหน่งที่สูงขึ้น เมื่อรับประทานอาหารมาก ๆ หรือเอนตัวลงนอนหลังรับประทานอาหารเสร็จไม่นาน น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรดจึงไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหาร ทำให้รู้สึกเจ็บและแสบร้อนบริเวณหน้าอกตามมา
อาการที่บอกว่า คุณแม่เริ่มมีอาการของโรคกรดไหลย้อนระหว่างตั้งครรภ์ ได้แก่ มีอาการแสบร้อนบริเวณกลางหน้าอก เรอบ่อย เรอเปรี้ยว ระคายคอ หรือเสียงแหบ คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งอาการดังกล่าวมักส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคุณแม่ และจะยิ่งซ้ำเติมอาการแพ้ท้องที่ทำให้รับประทานอาหารได้น้อยลง และไม่สบายท้องอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม คุณแม่หลายคนไม่ต้องกังวลไปว่ากรดเกินส่วนนี้จะส่งผลกระทบกับทารกในครรภ์ เพราะภาวะกรดไหลย้อนขณะตั้งครรภ์นั้นไม่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์แต่อย่างใด เพียงแต่จะเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวันของตัวคุณแม่เอง โดยในรายที่มีอาการรุนแรงอาจทำให้เกิดภาวะหลอดอาหารอักเสบได้ ซึ่งอาการเหล่านี้จะค่อย ๆ ดีขึ้นเองหลังจากคลอดบุตรแล้ว หากคุณแม่ไม่ได้มีภาวะโรคอื่น ๆ หรือเป็นโรคกรดไหลย้อนเรื้อรังเดิมอยู่แล้ว
สำหรับวิธีการดูแลตนเองสำหรับคุณแม่ที่มีภาวะกรดไหลย้อนขณะตั้งครรภ์ ได้แก่ การรับประทานอาหารให้ตรงเวลา และแบ่งอาหารในแต่ละมื้อให้มีปริมาณน้อยลง แต่อาจรับประทานให้บ่อยขึ้นได้ เช่น แบ่งเป็นมื้อเช้า อาหารว่างมื้อสาย มื้อกลางวัน อาหารว่างในมื้อบ่าย และมื้อเย็น เป็นต้น ไม่ควรรับประทานอาหารก่อนนอน ทางที่ดีคือควรทานอาหารมื้อสุดท้ายก่อนเข้านอนไม่ต่ำกว่า 4 ชั่วโมง นอกจากนี้ เวลารับประทานอาหารต้องเคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืน หลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการกรดไหลย้อน เช่น อาหารที่มีกรดเป็นส่วนประกอบ น้ำอัดลม เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน-กาแฟ แอลกอฮอล์ อาหารหมักดอง อาหารรสเปรี้ยว-รสจัด อาหารไขมันสูง อาหารทอด เป็นต้น หลีกเลี่ยงการนอนหลังจากเพิ่งรับประทานอาหารเสร็จ ควรนั่ง ยืน หรือลุกเดินอย่างน้อย 1 ชั่วโมงหลังรับประทานอาหาร แล้วค่อยเอนตัวนอนหากต้องการ
อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่ยังมีอาการให้ใช้หมอนหนุนบริเวณลำตัวส่วนบนระหว่างนอนหลับ เพื่อให้หลอดอาหารอยู่สูงกว่ากระเพาะอาหาร จะช่วยป้องกันไม่ให้กรดไหลย้อนกลับขึ้นมาที่หลอดอาหาร สวมใส่เสื้อผ้าที่สบายตัว และลดความเครียด เพราะเมื่อไหร่ที่เกิดความเครียด ร่างกายจะกระตุ้นให้น้ำย่อยในกระเพาะหลั่งออกมามากขึ้นนั่นเอง
หากคุณแม่ลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารและปฏิบัติตัวแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรไปปรึกษาแพทย์ โดยแพทย์อาจพิจารณาให้รับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการ ซึ่งส่วนใหญ่ยาที่ได้รับสำหรับบรรเทาอาการของโรคกรดไหลย้อนจะเป็นยาน้ำหรือยาแคปซูลป้องกันกรดไหลย้อน ซึ่งจะตรงเข้าไปช่วยลดกรดและเคลือบกระเพาะอาหาร จึงช่วยลดโอกาสการเกิดกรดไหลย้อน ซึ่งการรับประทานยานี้ปลอดภัยทั้งกับคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ เพราะไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย จึงไม่มีผลกระทบกับการเจริญเติบโตของลูกน้อย นอกจากนี้ อีกหนึ่งทางเลือกคือการรับประทานชา/ผงชงสมุนไพรที่มีฤทธิ์ช่วยลดกรดและบำรุงทางเดินอาหาร เช่น ผงกล้วยดิบ สมุนไพรกลุ่มขิงและขมิ้นชัน เป็นต้น
“น้ำว้า” ขอเป็นกำลังใจให้คุณแม่และลูกน้อยมีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขในทุก ๆ วันค่ะ
สนใจ ผลิตภัณฑ์ของ “น้ำว้า” เพิ่มเติม กดที่รูปได้เลยค่าาา
เอกสารอ้างอิง
-
https://www.healthline.com/health/gerd/pregnancy-2. July 24, 2018.
-
https://www.nhs.uk/pregnancy/related-conditions/common-symptoms/indigestion-and-heartburn/. January 27, 2018.
-
https://www.stanfordchildrens.org/en/topic/default?id=pregnancy-and-heartburn-134-10.
-
https://www.webmd.com/heartburn-gerd/guide/heartburn-during-pregnancy#1. August 25, 2020.
-
https://www.uofmhealth.org/health-library/aa130363#:~:text=GERD%20symptoms%20are%20common%20during,other%20people%20who%20have%20GERD. August 11, 2019.