ในปัจจุบันเราจะพบเห็นคนใกล้ตัวเป็น “โรคกรดไหลย้อน” กันมากขึ้น ซึ่งจัดว่าเป็นโรคยอดฮิต ยุคใหม่ที่ใคร ๆ ก็เป็นได้ โดยสาเหตุหลักมักมาจากพฤติกรรมการกินอาหารที่ไม่ถูกต้องและการใช้ชีวิตที่เร่งรีบในสภาพสังคมปัจจุบัน

โรคกรดไหลย้อน คือ ภาวะที่มีกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาในหลอดอาหารจนทำให้หลอดอาหารเกิดการอักเสบ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน หรือแม้แต่ไม่ได้รับประทานอาหารก็ตาม อาการของกรดไหลย้อนเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับอวัยวะที่ถูกระคายเคืองโดยกรด เช่น

  1. อาการทางคอหอยและหลอดอาหาร

    • อาการปวดแสบร้อนบริเวณหน้าอก และลิ้นปี่ บางครั้งอาจร้าวไปที่บริเวณคอได้ (พบน้อย)

    • รู้สึกคล้ายมีก้อนอยู่ในคอ หรือแน่นคอ

    • กลืนลำบาก กลืนเจ็บ หรือกลืนติดๆ ขัดๆ คล้ายสะดุดสิ่งแปลกปลอมในคอ

    • เจ็บคอ แสบคอหรือปาก หรือแสบลิ้นเรื้อรัง โดยเฉพาะในตอนเช้า

    • รู้สึกเหมือนมีรสขมของน้ำดี หรือรสเปรี้ยวของกรดในคอหรือปาก (bile or acid regurgitation)

    • มีเสมหะอยู่ในลำคอ หรือระคายคอตลอดเวลา

    • เรอบ่อย คลื่นไส้ คล้ายมีอาหาร หรือน้ำย่อยไหลย้อนขึ้นมาในอก หรือคอ

    • รู้สึกจุกแน่นอยู่ในหน้าอก คล้ายอาหารไม่ย่อย (dyspepsia)

    • มีน้ำลายมากผิดปกติ มีกลิ่นปาก เสียวฟัน หรือมีฟันผุได้

  1. อาการทางกล่องเสียง และหลอดลม

    • เสียงแหบเรื้อรัง หรือ แหบเฉพาะตอนเช้า หรือมีเสียงผิดปกติไปจากเดิม

    • ไอเรื้อรัง โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหารหรือขณะนอน

    • ไอ หรือ รู้สึกสำลักน้ำลาย หรือหายใจไม่ออกในเวลากลางคืน

    • กระแอมไอบ่อย

    • อาการหอบหืดที่เคยเป็นอยู่ (ถ้ามี) แย่ลง หรือไม่ดีขึ้นจากการใช้ยา

    • เจ็บหน้าอก (non – cardiac chest pain)

    • เป็นโรคปอดอักเสบ เป็นๆ หายๆ

  1. อาการทางจมูก และหู

    • คัน จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล หรือมีน้ำมูก หรือเสมหะไหลลงคอ

    • หูอื้อเป็นๆ หายๆ หรือปวดหู

 

นอกจากนี้กรดไหลย้อน อาจจะทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังบริเวณหลอดอาหารและบริเวณกล่องเสียง ซึ่งถ้าหากมีการอักเสบเรื้อรังไปนาน ๆ จะทำให้เซลส์บริเวณเยื่อบุผิวมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลส์มะเร็งได้ แต่ว่ามีโอกาสไม่เยอะมาก แค่ประมาณ 1-6% เท่านั้น

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทานอาหาร และการดำเนินชีวิตประจำวันของเรา เป็นสิ่งที่จำเป็นมากที่สุด ซึ่งจะเป็นวิธีการรักษาโรคกรดไหลย้อนที่ตรงจุดที่สุดและควรปฏิบัติไปตลอดชีวิต เพราะเป็นการรักษาที่ต้นเหตุ แม้ว่าเราจะมีอาการดีขึ้น หรือหายดีแล้วก็ตาม

 

อย่าลืมกดแชร์ ให้กับคนที่คุณ “ห่วงใย” กันด้วยนะจ้ะ