โรคลำไส้แปรปรวนหรือโรคไอบีเอส (IBS; Irritable Bowel Syndrome) เป็นโรคลำไส้ที่หลายคนอาจไม่คุ้นเคยนัก โรคลำไส้แปรปรวนกลายเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิต และทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง โดยผู้ที่เป็นโรคลำไส้แปรปรวนจะมีอาการแตกต่างกันออกไปในแต่ละบุคคล บางรายอาจมีอาการท้องผูกเด่น บางรายอาจมีอาการท้องเสียเด่น แต่ทุกรายจะมีอาการปวดท้องเป็นอาการเฉพาะของโรค สาเหตุของโรคยังไม่ทราบแน่ชัด เบื้องต้นพบว่ามีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง จึงถือเป็นโรคที่ควรทำความรู้จักและทำความเข้าใจเพื่อสังเกตตนเองและหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง เพื่อป้องกันการเกิดโรค
อาการของโรคลำไส้แปรปรวน
ผู้ที่เป็นโรคลำไส้แปรปรวนมักทรมานจากการปวดท้อง แต่เมื่อได้ถ่ายอุจจาระอาการปวดจะหายไปและสบายท้องมากขึ้น โดยส่วนใหญ่อาการปวดมักปวดเกร็งที่ท้องน้อย อาการปวดท้องแต่ละครั้งจะมีความรุนแรงไม่เท่ากัน บางครั้งปวดมาก บางครั้งปวดน้อย ร่วมกับการมีการขับถ่ายที่ผิดปกติ เช่น ท้องผูกหรือท้องเสีย หรืออย่างใดอย่างหนึ่งสลับกัน โดยแต่ละรายจะมีอาการหนึ่งอาการใด (ท้องผูก/ท้องเสีย) เด่นกว่าอีกอาการหนึ่ง
อาการที่สำคัญของโรคไอบีเอส คือ ผู้ป่วยอาจรู้สึกถ่ายอุจจาระไม่สุด ท้องผูก หรืออาจมีมูกปนออกมาเวลาถ่ายอุจจาระ ลักษณะอุจจาระอาจเปลี่ยนเป็นก้อนแข็งหรือเหลวจนเป็นน้ำ หลายคนอาจมีอาการท้องอืด แน่นท้อง อึดอัดท้อง เรอบ่อย เนื่องจากมีลมมากในช่องท้อง และเวลาถ่ายอุจจาระมักจะมีลมออกมาด้วย โดยแพทย์จะวินิจฉัยว่าเป็นโรคไอบีเอสเมื่อมีอาการต่าง ๆ เหล่านี้นานมากกว่า 6 เดือน ในช่วง 1 ปี โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีประวัติมานานหลายปี โรคลำไส้แปรปรวนเป็นโรคเรื้อรังโดยผู้ป่วยอาจเป็นตลอดชีวิตไม่สามารถรักษาให้หายได้ เพียงแค่ช่วยบรรเทาอาการ
การแยกโรคลำไส้แปรปรวนกับโรคอื่น ๆ
- หากเป็นโรคท้องผูกเรื้อรัง ผู้ป่วยมักไม่มีอาการปวดท้อง แต่ผู้ป่วยโรคไอบีเอสจะมีอาการปวดท้องร่วมด้วยเป็นอาการเด่น
- หากเป็นโรคท้องเสียเรื้อรัง ผู้ป่วยมักไม่มีอาการปวดท้องเช่นกัน
- หากผู้ป่วยเป็นโรคกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องส่วนบน แต่โรคลำไส้แปรปรวนผู้ป่วยจะปวดช่วงกลางท้องหรือปวดท้องส่วนล่าง
อย่างไรก็ตาม โรคลำไส้แปรปรวนและโรคอื่น ๆ เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร สามารถเป็นร่วมกันได้หลายโรค
โรคลำไส้แปรปรวนเป็นโรคที่อันตรายหรือไม่
โรคลำไส้แปรปรวนเป็นโรคที่ไม่พบความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร ไม่ว่าจะเป็นอาการอักเสบหรือก้อนมะเร็ง จึงเป็นโรคที่ไม่ทำให้สุขภาพแย่ลงแม้จะเป็นนานหลายปี และไม่ทำให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต แต่เป็นโรคที่สร้างความรำคาญแก่ผู้ป่วย โดยผู้ป่วยมักจะเกิดความวิตกกังวลว่าทำไมโรคไม่หายเสียทีแม้ได้รับยารักษาแล้วก็ตาม นอกจากนี้ โรคไอบีเอสไม่ใช่โรคมะเร็งและจะไม่กลายเป็นโรคมะเร็งอีกด้วย
แนวทางการรักษาโรคลำไส้แปรปรวน
โรคลำไส้แปรปรวนเป็นโรคเรื้อรังโดยผู้ป่วยอาจเป็นตลอดชีวิตไม่สามารถรักษาให้หายได้ เพียงแค่ช่วยบรรเทาอาการ ในปัจจุบันยังไม่มียาที่รักษาได้ผล 100% โดยแพทย์มักจะให้ยารักษาไปตามอาการที่เป็น เช่น ให้ยาระบายในผู้ป่วยที่มีอาการท้องผูกเป็นอาการเด่น หรือให้ยาแก้ท้องเสียถ้ามีอาการท้องเสียเป็นอาการเด่น ให้ยาต้านการหดเกร็งของกล้ามเนื้อลำไส้เพื่อช่วยลดอาการปวดท้อง โดยผู้ป่วยอาจมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ ได้ ร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยต้องค้นหาและจัดการความเครียดที่เหมาะสม หรือปรึกษาจิตแพทย์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รวมถึงการรับประทานอาหารที่เหมาะสม และหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้โรคกำเริบ เช่น
- ในผู้ป่วยที่มีอาการท้องผูกเด่น ควรดื่มน้ำมาก ๆ และเพิ่มปริมาณการรับประทานอาหารที่มีเส้นใยชนิดละลายน้ำ (Soluble Fibre) เช่น กล้วยสุก แอปเปิ้ล แครอท เป็นต้น
- ในผู้ที่มีอาการท้องเสียเด่น ควรลดปริมาณการรับประทานอาหารที่มีเส้นใยไม่ละลายน้ำ (Insoluble Fibre) เช่น ซีเรียล ถั่ว ธัญพืช เป็นต้น และควรรับประทานอาหารช่วยบรรเทาอาการท้องเสีย ได้แก่ อาหารที่มีส่วนประกอบของแทนนินสูง เช่น กล้วยดิบ ชา เป็นต้น โดยทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การหันมารับประทานทานผงกล้วยน้ำว้าดิบ ตราน้ำว้า เครื่องดื่มทางเลือกเพื่อสุขภาพที่ดีของผู้ที่เป็นโรคลำไส้แปรปรวนชนิดท้องเสียเด่น
นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคลำไส้แปรปรวนควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตที่ย่อยยาก เพื่อลดการเกิดแก๊สในท้อง และท้องอืด เช่น ถั่ว นมจากสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากข้าวสาลี เป็นต้น
สนใจ เครื่องดื่มกล้วยน้ำว้าดิบ ชนิดผง ตราน้ำว้า เพิ่มเติม กดที่รูปได้เลยค่าาา
เอกสารอ้างอิง
-
NDTV Food. https://food.ndtv.com/food-drinks/7-amazing-green-banana-benefits-you-may-not-have-known-1839150. 19 July 2018.
-
https://www.medicinenet.com/irritable_bowel_syndrome_ibs_triggers_prevention/article.htm. Access online: 06 February 2020.
-
https://health.clevelandclinic.org/take-control-of-ibs-with-low-fodmap-diet/. 04 December 2019.