โรคกรดไหลย้อนขณะตั้งครรภ์
namwahpowder2021-03-15T12:18:10+07:00กรดไหลย้อนเป็นอาการแสบร้อนกลางอกที่เกิดจากกล้ามเนื้อบริเวณหลอดอาหารคลายตัวผิดปกติ ซึ่งพบได้บ่อยมากขึ้นในหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากหญิงตั้งครรภ์มีการเปลี่ยนแปลงของ ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (progesterone) โดยมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นจากระดับปกติอย่างมากเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ส่งผลให้ระบบย่อยอาหารทำงานช้าลง และทำให้กล้ามเนื้อหูรูดบริเวณปลายหลอดอาหารที่อยู่ระหว่างกระเพาะคลายตัวมากกว่าปกติ นอกจากนี้ การเจริญเติบโตของทารกในครรภ์จะทำให้มดลูกขยายขนาดใหญ่ขึ้น และไปเบียดกระเพาะอาหารให้อยู่ในตำแหน่งที่สูงขึ้น เมื่อรับประทานอาหารมาก ๆ หรือเอนตัวลงนอนหลังรับประทานอาหารเสร็จไม่นาน น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรดจึงไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหาร ทำให้รู้สึกเจ็บและแสบร้อนบริเวณหน้าอกตามมา อาการที่บอกว่า คุณแม่เริ่มมีอาการของโรคกรดไหลย้อนระหว่างตั้งครรภ์ ได้แก่ มีอาการแสบร้อนบริเวณกลางหน้าอก เรอบ่อย เรอเปรี้ยว ระคายคอ หรือเสียงแหบ คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งอาการดังกล่าวมักส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคุณแม่ และจะยิ่งซ้ำเติมอาการแพ้ท้องที่ทำให้รับประทานอาหารได้น้อยลง และไม่สบายท้องอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม คุณแม่หลายคนไม่ต้องกังวลไปว่ากรดเกินส่วนนี้จะส่งผลกระทบกับทารกในครรภ์ เพราะภาวะกรดไหลย้อนขณะตั้งครรภ์นั้นไม่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์แต่อย่างใด เพียงแต่จะเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวันของตัวคุณแม่เอง โดยในรายที่มีอาการรุนแรงอาจทำให้เกิดภาวะหลอดอาหารอักเสบได้ ซึ่งอาการเหล่านี้จะค่อย ๆ ดีขึ้นเองหลังจากคลอดบุตรแล้ว